วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ว่าด้วยเรื่องระบบปฏิบัติการของเครื่องผมเอง (3)


อย่างที่บอกไว้งวดก่อน ตอนนี้มาว่าถึงความสามารถของลีนุกซ์กันบ้าง ลีนุกซ์นั้นพัฒนาขึ้นมาโดยอิงหลักการของระบบปฏิบัติการยูนิกซ์ โดยมีจุดยืนว่าเป็นฟรีซอฟต์แวร์ ซึ่งทุกคนสามารถที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาได้ สามารถนำไปใช้งานได้ตามความต้องการ การเขียนโปรแกรมแต่ละตัวขึ้นมานั้น ก็อาศัยความต้องการในการใช้งานเป็นหลัก โดยมีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นเส้นทางเชื่อมต่อทุกๆ คนเข้าหากัน
พื้นฐานของระบบเป็นระบบมัลติยูสเซอร์ หรือระบบหลายผู้ใช้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือเป็นเซิร์ฟเวอร์โดยตรง โดยมีผู้ใช้หลักคนหนึ่งคือ root ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลระบบนั้นๆ ดังนั้น โปรแกรมที่เขียนขึ้นมาทุกโปรแกรมจะถูกใช้งานในโหมดมัลติยูสเซอร์ทั้งหมด
ในระยะแรกๆ การใช้งานลีนุกซ์จะเน้นไปที่ระบบเซิร์ฟเวอร์เป็นส่วนมาก ระบบเซิร์ฟเวอร์ที่นิยมใช้กันมากที่สุดน่าจะเป็น apache (เว็ปเซิร์ฟเวอร์)นอกจากนี้ก็เป็นพวก File server, FTP Sever หรือแม้กระทั้งโปรแกรมฐานข้อมูลอย่าง MySQL ก็จัดอยู่ในจำพวกฟรีซอฟต์แวร์ของลีนุกซ์ ซึ่งโปรแกรมเหล่านี้ทำงานในเท็กซ์โหมด ดังนั้นจีงไม่มีความจำเป็นในการใช้งานในระบบกราฟิคแบบวินโดวส์ ทำให้ตอนแรกการใช้งานลีนุกซ์จึงเน้นกันที่เท็กซ์โหมด
หลังๆ มากระแสการใช้งานคอมพิวเตอร์มีแพร่หลาย ทั้งจากความนิยมในไมโครซอฟต์วินโดวส์และแม็คโอเอส ทำให้เกิดการพัฒนาระบบวินโดวส์ในลีนุกซ์ (ซึ่งเรียกว่า Xwindows) และมีการพัฒนาโปรแกรมที่ใช้งานในลีนุกซ์กันมากมายเพื่อสนองต่อความต้องการใช้งานโปรแกรมของผู้ใช้ทั่วไป ทั้งโปรแกรมชุดออฟฟิศ (พิมพ์งาน ตาราง นำเสนอ) แล้วก็โปรแกรมกราฟฟิคต่างๆ โปรแกรมมัลติมีเดียต่างๆ ซึ่งมีผู้เขียนโปรแกรมเหล่านี้เป็นจำนวนมาก หลังๆ มาจึงเห็นได้ว่าโปรแกรมใช้งานในลีนุกซ์นั้นมีเยอะแยะมากมาย ซ้ำซ้อนกันมากก็มี อาจจะมีคนสงสัยว่าในเมื่อมีโปรแกรมให้ใช้ตั้งเยอะแยะแล้วทำไปคนจึงไม่นิยมใช้ลีนุกซ์กัน คำตอบก็ง่ายๆ ครับ คนส่วนมากไม่ได้เรียนการใช้งานลีนุกช์ แต่เรียนการใช้งานโปรแกรมในไมโครซอฟท์วินโดวส์ พูดง่ายๆ คือ ไมโครซอฟท์วินโดวส์เป็นเจ้าตลาดอยู่แล้ว คนที่เป็นลีนุกซ์หาไม่ค่อยได้ ซื้อคอมพ์มาพี่แกก็ลงไมโครซอฟต์มาให้ทั้งนั้น แล้วคนทั่วๆ ไป จะไปรู้จักลีนุกซ์ได้ยังไง

วันหลังมาพูดถึงภาษาไทยกับลีนุกซ์กันบ้างดีกว่านะครับ

วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ว่าด้วยเรื่องระบบปฏิบัติการของเครื่องผมเอง (2)


ตอนที่ลีนุกซ์เริ่มเข้ามาในเมืองไทยใหม่ๆ มีลีนุกซ์ดังๆ อยู่หลายตัว ซี่งก็เป็นตัวหลักๆ ทั้งนั้นคือ รุ่นเก๋าๆ หน่อยก็จะเป็น Slackware ซึ่งเล่นยากส์มากกกกกกก เพราะพี่แกให้ตั้งค่าอะไรเองแทบจะทั้งหมด แถมๆ บางทีให้คอมไพล์โปรแกรมใช้เองซะอีก (ฮ่วย) ตัวนี้เค้าเน้นที่เครื่องเซิร์ฟเวอร์ ปัจจุบันขาเก๋าจริงๆ เท่านั้นถึงเล่นเป็น (ผมเองเล่นมาเป็นสิบปีเคยลองครั้งสองครั้งแล้วก็ไม่แตะอีกเลย) อีกตัวที่ดังๆ ก็คือเจ้าหมวกแดง Redhat Linux ตัวนี้ฮิตกันมากหน่อยเพราะลงง่าย เล่นง่าย คอนฟิคง่าย จึงแตกลูกแตกหลายออกไปอีกเป็นลีนุกซ์หลายตัว อย่างเช่น Mandrake, Fedora, SIS (ของไทย เฉพาะรุ่นแรกๆ), Kaiwal (ตัวนี้ก็ของไทยเหมือนกัน) แล้วก็อีกเยอะแยะ อีกตัวนึงก็คือ Debian ซึ่งพวกที่นิยมเล่นกันก็เป็นพวกที่จบมาจากนอกเป็นส่วนมาก มีตังค์หน่อย มีเน็ตใช้ (ในสมัยนั้นนะ) เพราะ Debian สามารถติดตั้ง-อัพเดตผ่านเน็ตได้เลย (สุดยอดมั้ยล่ะ)
ส่วนตัวผมเอง เริ่มเล่นแรกๆ ก็จับไปที่ Redhat ก่อนอื่นเลย ตอนนั้นยังเป็นเวอร์ชัน 6.0 อยู่เลย ติดตั้งง่าย แต่คอนฟิคค่อนข้างจะยาก ดีสุดๆ อยู่ที่ไม่ต้องพึ่งแผ่นไดร์เวอร์ เพราะส่วนมากมันมีไดร์ฟเวอร์ติดมากับโอเอสใช้การได้แล้ว เพียงแต่ต้องคอนฟิคระบบให้มันได้ก็เท่านั้น (ความมันส์มันอยู่ตรงที่ความยากนี่แหละครับ พอทำได้แล้วก็สะใจ 5555)
เล่นลีนุกซ์สมัยแรกๆ นี่เล่นเอามันส์จริงๆ ครับ เน็ตก็ช้าๆ (อยู่บ้านนอกมีเน็ตเล่นก็ดีเท่าไหร่แล้ว ชั่วโมงละเกือบสิบบาทแน่ะ)เพราะฉะนั้นจึงอาศัยติดตั้งจากแผ่นอย่างเดียว แล้วก็หาหนังสือมาอ่าน แผ่นก็ต้องหาที่สั่งซื้อเอา ได้เข้ากรุงเทพฯตอนไหนก็สนุกไปหาที่พันธุ์ทิพย์โน่นเลย
แรกๆ ระบบยังไม่เข้าที่เข้าทางเท่าไหร่ ทำให้มีเสียงได้ก็ดีใจแย้ว... ทำให้ใช้งาน Xwindows (ระบบการทำงานแบบกราฟฟิค) โอย... สุดยอด เรื่องภาษาไทยไม่ต้องพูดถึง ทำให้อ่านออก-เขียนได้ก็เจ๋งแล้ว เล่นมันหมดทุกอย่าง ต่อเข้าเน็ตได้ก็ลองโปรแกรมไอซีคิวบ้าง (MSN ยังเป็นวุ้นอยู่เลยตอนนั้น) หรือลองแช็ทกับพวกเล่น IRC โฮ่ๆ สนุกมากเลย
ก็อย่างที่บอกว่ามันเป็นระบบเปิด ซึ่งอาศัยพวกโปรแกรมเมอร์พัฒนาระบบแลกเปลี่ยนกันไปเรื่อยๆ ผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต ลีนุกซ์จึงพัฒนาไปเร็วมาก แป็บเดียว แค่เดือนสองเดือน เวอร์ชั่นใหม่ก็ออก แล้ว อย่างเรดแฮท จาก 6.0 สองเดือนก็ออก 6.1 สามเดือนต่อมาก็ออก 6.2 กว่าจะถึง 7 ก็เป็นปี ระหว่างนั้น ก็มีลีนุกซ์ตัวใหม่โผล่มาเรื่อยๆ ถ้าไปไล่ดูดีๆ มีเป็นของแต่ละประเทศเลยเพียบ บางตัวก็รุ่ง บางตัวก็ดับไป ที่เจ๋งๆ อยู่รอดมาถึงทุกวันนี้ก็มีหลายตัว เช่น Mandrake (จากฝรั่งเศส ต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็น Mandrava)SuSe (ของเยอรมัน หลังๆ มาเปลี่ยนชื่อเป็น OpenSuSe) หรือต้นแบบอย่างเรดแฮท (จากอเมริกา ก็มากลายเป็น Fedora) ที่เปลี่ยนชื่อนี่ก็เพราะเหตุที่ช่วงแรกๆ บริษัทที่ทำลีนุกซ์ทำออกมาเป็นธุรกิจเป็นล่ำเป็นสันเลย ซึ่งก็จะมีรายได้จากการให้บริการดูแลระบบเซิร์ฟเวอร์ซะเป็นส่วนมาก หลังๆ มาเวอร์ชันเดิมที่มีการเขียนโปรแกรมควบคุมโดยเฉพาะก็จำหน่ายเฉพาะลูกค้าอย่างเดียว ส่วนเวอร์ชันที่มีแต่ซอฟแวร์ฟรีก็มาเป็นชื่อเหมือนอย่างที่ว่ามา

เอ้า... วันหลังจะมาว่าถึงวิวัฒนาการของการพัฒนาลีนุกซ์ว่ามันสามารถทำอะไรได้บ้างนะครับ

ว่าด้วยเรื่องระบบปฏิบัติการของเครื่องผมเอง (1)

เตรื่องที่ผมใช้อยู่นี่ลง 2 โอเอสครับ ตัวหนึ่งก็คือวินโดวส์เอ็กซ์พี (เหมือนชาวบ้านชาวเมืองเขาทั่วๆไป) ส่วนอีกตัวก็คือลีนุกซ์ (Debian 5.0 Lenny อันนี้ไม่เหมือนชาวบ้านแต่ใช้ประจำไม่ค่อยได้ใช้วินโดวส์สักเท่าไหร่)
บางคนอาจสงสัยว่าลีนุกซ์นี่มันอะไรหว่า? อาจจะเคยได้ยินหรือผ่านหูผ่านตามาบ้าง หรือบางคนก็อาจจะรู้ เรื่องวินโดวส์เอ็กซ์พียกไปไม่พูดถึง พูดถึงลีนุกซ์ดีกว่า
เอาเป็นว่าซักประมาณสิปปีที่แล้วตอนนั้นในเมืองไทยคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือ PC กำลังเริ่มเป็นที่นิยมอย่างมาก ใครๆ ต่างก็พากันไปเรียนคอมพ์(ว่ากันอย่างนั้น)กันเป็นแถว เพราะกลัวตกเทรนด์ แล้วไอ้ที่ว่าเรียนคอมพ์ก็คือการเรียนใช้งานคอมพิวเตอร์นั่นเอง โดยพีซีทั่วไปก็จะมีระบบปฏิบัติการไมโครซอฟต์วินโดวส์ (9x/me/2000/XP) แล้วก็การใช้งานโปรแกรมทัวๆไปอย่าง เวิร์ด เอ็กเซล พาวเวอร์พอยท์ อะไรประมาณนี้ ค่าเรียนในตอนนั้นไม่ใช่ถูกๆ นะครับคอร์สนึงตั้งหลายพัน บางคอร์สล่อกันเป็นหมื่นก็มี ดังนั้น จะเห็นได้บ่อยๆ ว่าบางคนใช้เวิร์ดไม่เป็น แต่ใช้เอ็กเซลพิมพ์งานเฉยเลย เพราะไม่อยากเปลืองค่าเรียน เรียนเฉพาะเอ็กเซล ไม่ได้เรียบเวิร์ด (หุหุ)
อะน่ะ ว่าจะพูดเรื่องลีนุกซ์ ออกทะเลไปหาเรื่องเรียนคอมพ์ซะได้ พูดถึงลีนุกซ์ เปิดกระแสได้ด้วยเรื่องของลิขสิทธิ์ครับ เพราะราคาซอฟท์แวร์อะไรต่างๆ นี่ไม่ใช่ถูกๆ ค่าซอฟต์แวร์นี่แพงกว่าค่าเครื่องซะอีก อย่างเฉพาะตัววินโดวส์นี่ ราคาไม่ต่ำกว่า 7-8 พัน (เวอร์ชันโอมซะด้วยไม่ใช่โปรนะ) แถมค่าซอฟต์แวร์ใช้งาน อย่างออฟฟิศนี่ก็ชุดละ 3-4 หมื่น (ลงได้เครื่องเดียวนะเนี่ย โอ้... แม่เจ้าโว้ย เฮียบิลไม่รวยก็ให้มันรู้ไปสิวะ) ไม่ต้องไปพูดถึงโปรแกรมอื่นๆ อย่าง โฟโตช็อป คลอเรลดรอว์ อะไรพวกนี้ ราคาหลักหมื่นทั้งนั้น แต่ส่วนมากไม่ได้ซื้อกันหรอกครับ ช่างลงให้มาจากร้านเรียบร้อย ของเถื่อนทั้งนั้น ลินุกซ์เข้ามาตอนที่กระแสเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญานั่นแหละ บวกกับปัจจัยอย่างอื่นอีก เช่น การที่วินโดวส์ชอบแฮงค์บ่อย ๆ ช้าอืดอาด ไม่ค่อยเสถียร (โดยเฉพาะในตอนที่เอ็กซ์พีออกมาใหม่ๆ นี่สุดยอด)แถมด้วยปัญหาเรื่องไวรัส โดยเฉพาะเมื่ออินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามาในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป
ลีนุกซ์เป็นระบบปฏิบัติการที่มีจุดเด่นในเรื่องของลิขสิทธิ์ที่เป็นฟรีแวร์ ทั้งระบบปฏิบัติการ และโปรแกรมใช้งานต่างๆ ซึ่งสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้ฟรีๆ แถมใครมีสติปัญญาความสามารถก็สามารถที่ปรับแต่งซอฟต์แวร์เพิ่มเติมได้อีกด้วย (มีซอร์สโค้ดโปรแกรมให้ดาวน์โหลดฟรีๆ ปรับแต่งแก้ไขได้ ขายได้ถ้ามีคนซื้อ ห้ามนำไปแอบอ้างว่าเป็นของตัวเอง ห้ามเก็บกักไว้ใช้เอง ต้องแบ่งให้คนอื่นด้วย อะไรประมาณนี้แหละ 555) คือ แนวคิดมันสุดยอดมากเลย แล้วก็มันทำได้ซะด้วย คือ เมื่อมีการเปิดให้คนทั่วๆไป สามารถร่วมพัฒนามันได้ มันก็เลยเกิดกระแสขึ้นอย่างใหญ่ โปรแกรมเมอร์จากทั่วโลกที่เห็นชอบก็เข้าไปช่วยพัฒนากันใหญ่จนกลายเป็นระบบปฏิบัติการที่สามารถทำงานได้ทัดเทียมกับโอเอสยอมนิยมอย่างไมโครซอฟต์วินโดวส์ได้ แถมยังสามารถใช้ได้กับเครื่องทุกประเภทตั้งแต่รุ่นเล็กๆ อย่างมือถือ ไปยันเมนเฟรมขนาดยักษ์ก็ได้หมด(ของไมโครซอฟต์ลงได้เฉพาะเครื่อง PC-IBM Compatible เท่านั้น)แล้วก็มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ไว้วางใจได้ หาไวรัสมากวนไม่ค่อยมีอีกตะหาก

(เอ้า... วันหลังมาโม้ต่อก็แล้วกัน)