วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ว่าด้วยเรื่องระบบปฏิบัติการของเครื่องผมเอง (2)


ตอนที่ลีนุกซ์เริ่มเข้ามาในเมืองไทยใหม่ๆ มีลีนุกซ์ดังๆ อยู่หลายตัว ซี่งก็เป็นตัวหลักๆ ทั้งนั้นคือ รุ่นเก๋าๆ หน่อยก็จะเป็น Slackware ซึ่งเล่นยากส์มากกกกกกก เพราะพี่แกให้ตั้งค่าอะไรเองแทบจะทั้งหมด แถมๆ บางทีให้คอมไพล์โปรแกรมใช้เองซะอีก (ฮ่วย) ตัวนี้เค้าเน้นที่เครื่องเซิร์ฟเวอร์ ปัจจุบันขาเก๋าจริงๆ เท่านั้นถึงเล่นเป็น (ผมเองเล่นมาเป็นสิบปีเคยลองครั้งสองครั้งแล้วก็ไม่แตะอีกเลย) อีกตัวที่ดังๆ ก็คือเจ้าหมวกแดง Redhat Linux ตัวนี้ฮิตกันมากหน่อยเพราะลงง่าย เล่นง่าย คอนฟิคง่าย จึงแตกลูกแตกหลายออกไปอีกเป็นลีนุกซ์หลายตัว อย่างเช่น Mandrake, Fedora, SIS (ของไทย เฉพาะรุ่นแรกๆ), Kaiwal (ตัวนี้ก็ของไทยเหมือนกัน) แล้วก็อีกเยอะแยะ อีกตัวนึงก็คือ Debian ซึ่งพวกที่นิยมเล่นกันก็เป็นพวกที่จบมาจากนอกเป็นส่วนมาก มีตังค์หน่อย มีเน็ตใช้ (ในสมัยนั้นนะ) เพราะ Debian สามารถติดตั้ง-อัพเดตผ่านเน็ตได้เลย (สุดยอดมั้ยล่ะ)
ส่วนตัวผมเอง เริ่มเล่นแรกๆ ก็จับไปที่ Redhat ก่อนอื่นเลย ตอนนั้นยังเป็นเวอร์ชัน 6.0 อยู่เลย ติดตั้งง่าย แต่คอนฟิคค่อนข้างจะยาก ดีสุดๆ อยู่ที่ไม่ต้องพึ่งแผ่นไดร์เวอร์ เพราะส่วนมากมันมีไดร์ฟเวอร์ติดมากับโอเอสใช้การได้แล้ว เพียงแต่ต้องคอนฟิคระบบให้มันได้ก็เท่านั้น (ความมันส์มันอยู่ตรงที่ความยากนี่แหละครับ พอทำได้แล้วก็สะใจ 5555)
เล่นลีนุกซ์สมัยแรกๆ นี่เล่นเอามันส์จริงๆ ครับ เน็ตก็ช้าๆ (อยู่บ้านนอกมีเน็ตเล่นก็ดีเท่าไหร่แล้ว ชั่วโมงละเกือบสิบบาทแน่ะ)เพราะฉะนั้นจึงอาศัยติดตั้งจากแผ่นอย่างเดียว แล้วก็หาหนังสือมาอ่าน แผ่นก็ต้องหาที่สั่งซื้อเอา ได้เข้ากรุงเทพฯตอนไหนก็สนุกไปหาที่พันธุ์ทิพย์โน่นเลย
แรกๆ ระบบยังไม่เข้าที่เข้าทางเท่าไหร่ ทำให้มีเสียงได้ก็ดีใจแย้ว... ทำให้ใช้งาน Xwindows (ระบบการทำงานแบบกราฟฟิค) โอย... สุดยอด เรื่องภาษาไทยไม่ต้องพูดถึง ทำให้อ่านออก-เขียนได้ก็เจ๋งแล้ว เล่นมันหมดทุกอย่าง ต่อเข้าเน็ตได้ก็ลองโปรแกรมไอซีคิวบ้าง (MSN ยังเป็นวุ้นอยู่เลยตอนนั้น) หรือลองแช็ทกับพวกเล่น IRC โฮ่ๆ สนุกมากเลย
ก็อย่างที่บอกว่ามันเป็นระบบเปิด ซึ่งอาศัยพวกโปรแกรมเมอร์พัฒนาระบบแลกเปลี่ยนกันไปเรื่อยๆ ผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต ลีนุกซ์จึงพัฒนาไปเร็วมาก แป็บเดียว แค่เดือนสองเดือน เวอร์ชั่นใหม่ก็ออก แล้ว อย่างเรดแฮท จาก 6.0 สองเดือนก็ออก 6.1 สามเดือนต่อมาก็ออก 6.2 กว่าจะถึง 7 ก็เป็นปี ระหว่างนั้น ก็มีลีนุกซ์ตัวใหม่โผล่มาเรื่อยๆ ถ้าไปไล่ดูดีๆ มีเป็นของแต่ละประเทศเลยเพียบ บางตัวก็รุ่ง บางตัวก็ดับไป ที่เจ๋งๆ อยู่รอดมาถึงทุกวันนี้ก็มีหลายตัว เช่น Mandrake (จากฝรั่งเศส ต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็น Mandrava)SuSe (ของเยอรมัน หลังๆ มาเปลี่ยนชื่อเป็น OpenSuSe) หรือต้นแบบอย่างเรดแฮท (จากอเมริกา ก็มากลายเป็น Fedora) ที่เปลี่ยนชื่อนี่ก็เพราะเหตุที่ช่วงแรกๆ บริษัทที่ทำลีนุกซ์ทำออกมาเป็นธุรกิจเป็นล่ำเป็นสันเลย ซึ่งก็จะมีรายได้จากการให้บริการดูแลระบบเซิร์ฟเวอร์ซะเป็นส่วนมาก หลังๆ มาเวอร์ชันเดิมที่มีการเขียนโปรแกรมควบคุมโดยเฉพาะก็จำหน่ายเฉพาะลูกค้าอย่างเดียว ส่วนเวอร์ชันที่มีแต่ซอฟแวร์ฟรีก็มาเป็นชื่อเหมือนอย่างที่ว่ามา

เอ้า... วันหลังจะมาว่าถึงวิวัฒนาการของการพัฒนาลีนุกซ์ว่ามันสามารถทำอะไรได้บ้างนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น